รูปที่ 4.3 แสดงลักษณะของโคมหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์หลอดติดตั้งแนวตั้ง
4.2.3 โคมไฟส่องลงหลอดปล่อยประจุความเข้มสูง
ก) ใช้กับงานที่มีความส่องสว่างสูง หรือบริเวณที่เพดานสูง
ข) ใช้กับงานที่ต้องการเปิดใช้งานนานๆ
ค) ใช้เวลาในการจุดหลอดนานประมาณ 3-10 นาที
4.2.4 ข้อควรระวัง
การเปลี่ยนหลอดประหยัดพลังงานแทนหลอดอินแคนเดสเซนต์ภายในโคมเดิม
ก) ให้ระวังเรื่องแสงบาดตา และการระบายความร้อน ถ้าการระบายความร้อนไม่ดีปริมาณแสงอาจจะลดลงถึง 40% และอายุการใช้งานหลอดสั้นลง
ข) การกระจายแสงและประสิทธิภาพของโคมโดยทั่วไปลดลง
4.3 โคมไฟส่องขึ้น
โคมไฟส่องขึ้น หมายถึง โคมไฟที่ให้แสงขึ้นไปด้านบนเพื่อให้แสงสะท้อนที่เพดาน และแสงดังกล่าวก็จะตกกระทบมาที่พื้นที่ทำงาน
โคมดังกล่าวเหมาะสำหรับงานที่เพดานสูง และเพดานมีสีอ่อน ใช้กับบริเวณที่ต้องการความสม่ำเสมอของแสง สำหรับบริเวณที่ความส่องส่องน้อยประมาณ 200-300 ลักซ์ และสำหรับห้องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ต้องการแสงสะท้อนเนื่องจากโคมไฟส่องลง
โคมดังกล่าวมีหลายชนิดด้วยกันดังแสดงในรูปที่ 4.4
โคมไฟส่องขึ้นมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) มีความสม่ำเสมอของแสงและทำให้ห้องที่แคบมีความรู้สึกกว้างและมีบรรยากาศดี
ข) โคมไฟส่องขึ้นโดยทั่วไปให้ประสิทธิภาพต่ำ แต่มีคุณภาพแสงสูงคือไม่มีแสงบาดทำให้เหมาะกับงานที่ต้องการคุณภาพแสงสูง เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ศูนย์ควบคุม
ค) การใช้โคมไฟดังกล่าวเพดานต้องสูงมากกว่า 2.7 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ไม่เกิดความร้อนที่เพดาน และไม่สว่างจ้าเกินไป
4.4 โคมฟลูออเรสเซนต์
หลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดไฟที่ใช้กันมากเพราะมีค่าประสิทธิผลการส่องสว่างสูง (Luminous Efficacy) โคมไฟสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์จึงมีหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถสรุปเป็นชนิดหลักๆได้ดังนี้
ก) โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือย (Bare Type Luminaires)
ข) โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงาน (Industrial Luminaire)
ค) โคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสง (Diffuser Luminaire)
ง) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรง (Louver Luminaire)
4.4.1 โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือย (Bare Type Luminaires)
โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือยใช้กับงานที่ต้องการแสงออกด้านข้างที่ติดตั้งสำหรับเพดานที่ไม่สูงมากนักโดยทั่วไปไม่เกิน 4 เมตร และไม่พิถีพิถันมากนักกับแสงบาดตาจากหลอด เช่น ห้องเก็บของ ที่จอดรถ พื้นที่ที่มีชั้นวางของ ที่จอดรถ และในพื้นที่ใช้งานไม่บ่อยและไม่ต้องการความสวยงามมาก
รูปที่ 4.5 แสดงตัวอย่างโคมฟลูออเรสเซนต์เปลือย
โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือยมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) โคมดังกล่าวมีราคาถูก ทำความสะอาดง่าย และให้แสงสว่างในทุกทิศทาง
ข) โคมดังกล่าวไม่มีตัวครอบวัตถุภายนอกสามารถมากระแทกกับหลอดทำให้หลอดหลุดร่วงลงมาได้
ค) โคมดังกล่าวมีแสงบาดตาจากหลอด
4.4.2 โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงาน
โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงานเป็นโคมที่มีแผ่นสะท้อนแสงเพื่อควบคุมแสงให้ไปในทิศทางที่ต้องการ แผ่นสะท้อนแสงอาจทำจากแผ่นอลูมิเนียม แผ่นเหล็กพ่นสีขาว หรือวัสดุอื่นที่มีการสะท้อนแสงสูง
รูปที่ 4.6 แสดงตัวอย่างโคมฟลูออเรสเซนต์โรงงาน
โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงานมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) โคมดังกล่าวมีราคาถูกกว่าโคมหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเปลือย ทำความสะอาดง่ายและให้แสงสว่างมากในทิศทางที่ส่องไป
ข) โคมดังกล่าวไม่มีตัวครอบวัตถุภายนอกสามารถมากระแทกกับหลอดทำให้หลอดสามารถหลุดร่วงลงมาได้
ค) โคมดังกล่าวไม่เน้นความสวยงาม และมีแสงบาดตาจากหลอด
4.4.3 โคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสง (Diffuser luminaire)
โดยทั่วไปแผ่นกรองแสงมี 3 แบบด้วยกันคือ
1. แบบเกร็ดแก้ว (Prismatic diffuser)
2. แบบขาวขุ่น (Opal diffuser)
3. แบบผิวส้ม (Stipple diffuser)
โคมไฟดังกล่าวมีแผ่นกรองแสงปิดหลอดทั้งหมดเพื่อลดแสงบาดตาจากหลอด โคมประเภทนี้มีทั้งแบบติดฝังฝ้าหรือติดลอยหรือแบบตัวยู (U-shape) อาจเพิ่มแผ่นสะท้อนแสงอลูมิเนียมแบบเงา (Specular surface) หรือ แบบกระจายแสง (Diffuser surface) ที่ด้านหลังหลอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโคมไฟ โดยทั่วไปจะแนะนำเป็นแบบกระจายแสงที่มีค่าการสะท้อนแสงโดยรวมสูงเท่ากับแบบเงา โคมไฟประเภทนี้เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการแสงบาดตาจากหลอดต่ำและไม่ต้องการความเข้มส่องสว่างสูงมากนัก เช่น ในพื้นที่โรงพยาบาลที่ไม่ให้แสงรบกวนคนไข้ ห้องประชุมที่ไม่ต้องการแสงบาดตาและแสงสว่างมาก
ก) แบบเกร็ดแก้ว ข) แบบขาวขุ่น
รูปที่ 4.7 แสดงตัวอย่างรูปโคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสงแบบฝังฝ้า
โคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสงมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) โคมดังกล่าวมีราคาไม่สูงมากและแสงบาดตาจากหลอดน้อย
ข) โคมดังกล่าวมีประสิทธิภาพต่ำไม่เหมาะกับการประหยัดพลังงาน
ค) โคมดังกล่าวเหมาะกับงานที่ไม่ต้องการแสงบาดตาจากหลอด เช่น โรงพยาบาล
ง) โคมดังกล่าวเหมาะใช้กับงานกับห้อง Clean room และห้องเพดานต่ำ เช่น ห้องที่มีความสูงประมาณ 2.3 เมตร เป็นต้น
4.4.4 โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรง (Louver luminaire)
โคม ฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงมีทั้งแบบติดลอยและฝังฝ้า ลักษณะของโคมไฟประกอบด้วยแผ่นสะท้อนแสงด้านข้างและอาจมีแผ่นสะท้อนแสงด้าน หลังหลอดเพิ่มเข้ามาเพื่อสะท้อนแสงและควบคุมแสงให้ไปในทิศทางที่ต้องการ ส่วนตัวขวางจะสามารถลดแสงบาดตา เช่น ในมุมที่เลย มุมตัดแสง โดยทั่วไปแผ่นสะท้อนแสงและตัวขวางจะทำจากอลูมิเนียม (Anodized) ซึ่งมีทั้งแบบเงา (Specular Surface) และแบบกระจาย (Diffuser Surface) ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบโคมไฟและลักษณะการใช้งานของโคมไฟนั้น ซึ่งโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงมีส่วนประกอบต่างๆดังแสดงในรูปที่ 4.8
ที่มา
http://www.tieathai.org/know/coom/ch%204.htm